War of Liberation; Battle of Leipzig (1813)

สงครามปลดปล่อย; ยุทธการที่เมืองไลพ์ซิก (พ.ศ. ๒๓๕๖)

สงครามปลดปล่อย หรือยุทธการที่เมืองไลพ์ซิกเป็นการยุทธ์ที่สำคัญในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๖ (Sixth Coalition War) ซึ่งฝ่ายสหพันธมิตรประกอบด้วยรัสเซีย ออสเตรีย ปรัสเซีย อังกฤษ สวีเดน สเปน โปรตุเกส ซิซิลีทั้งสอง และซาร์ดิเนีย สู้รบกับฝรั่งเศสในดินแดนเยอรมันระหว่างวันที่ ๑๖–๑๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๑๓ เพื่อขับไล่กองทัพของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* ออกจากดินแดนเยอรมันยุทธการครั้งนี้ซึ่งเป็นการรบครั้งสำคัญที่สุดในสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๑๕)* เกิดขึ้นที่เมืองไลพ์ซิก (Leipzig) ราชอาณาจักรแซกโซนีฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างย่อยยับเป็นครั้งแรกและส่งผลให้สหพันธมิตรยกทัพบุกฝรั่งเศสจนได้รับชัยชนะใน ค.ศ. ๑๘๑๔ ยุทธการที่เมืองไลพ์ซิกนับเป็นการรบครั้งใหญ่ที่สุดของยุโรปในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙

 หลังจักรพรรดินโปเลียนทรงพ่ายแพ้จากการบุกรัสเซียในปลาย ค.ศ. ๑๘๑๒ ฝ่ายสหพันธมิตรจึงผนึกกำลังกันอีกครั้งเพื่อทำลายอิทธิพลของฝรั่งเศสในยุโรปสงครามเริ่มจากพลเอก ลุดวิก ยอร์ค ฟอน วาร์เทนบูร์ก (Ludwig Yorck von Wartenburg) แม่ทัพปรัสเซียที่นำทัพไปช่วยฝรั่งเศสรบในรัสเซีย ได้ลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกกับรัสเซียเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๑๒ และต่อมาในวันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๘๑๓ จอมพล คาร์ล ฟิลิปป์ เจ้าชายแห่งชวาร์เซนแบร์ก (Karl Philipp, Prince of Schwarzenberg) แห่งออสเตรียก็ลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกกับรัสเซียเช่นกันจากนั้นปรัสเซียและรัสเซียได้ประกาศสงครามกับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๑๓ ในเวลาเดียวกัน รัฐเยอรมันบางรัฐ เช่น ฮัมบูร์ก (Hamburg) จึงเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านจักรพรรดินโปเลียนด้วยจอมพล มีฮาอิล คูตูซอฟ (Mikhail Kutuzov) ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพสหพันธมิตรเห็นเป็นโอกาสจึงประกาศ “คำประกาศแห่งเมืองคาลิช” (Proclamation of Calisch) ในนามของซาร์อะเล็ก-ซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I)* แห่งรัสเซียและพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๓ (Frederick William III)* แห่งปรัสเซียเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๑๓ เพื่อเรียกร้องให้ผู้ครองรัฐเยอรมันทั้งหลายรวมตัวกันต่อต้านฝรั่งเศส

 หลังคำประกาศของฝ่ายสหพันธมิตร กองทัพฝรั่งเศสที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในยุโรปตะวันออกภายหลังการบุกรัสเซีย โดยมีเจ้าชายเออแชน เดอ โบอาร์เน (Eugène de Beauharnais) โอรสในอดีตจักรพรรดินีโชเซฟีน (Joséphine) เป็นผู้บังคับบัญชา ได้เคลื่อนพลเข้ามาในดินแดนเยอรมันและปะทะกับกองทัพผสมของรัสเซียและปรัสเซียที่เมืองเมิคแคร์น (Möckern) ในราชอาณาจักรแซกโซนีเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ค.ศ. ๑๘๑๓ กองทัพผสมของรัสเซียและปรัสเซียแม้จะมีจำนวนทหารน้อยกว่าฝ่ายฝรั่งเศสมากก็สามารถเอาชนะได้ ทำให้ขวัญและกำลังใจของฝ่ายสหพันธมิตรดีขึ้นมาก จักรพรรดินโปเลียนจึงทรงเคลื่อนทัพใหญ่จากฝรั่งเศสบุกโจมตีจนมีชัยชนะที่เมืองลึทเซิน (Lützen) และเมืองเบาท์เซิน (Bautzen) ในวันที่ ๒ และ ๒๐–๒๑ พฤษภาคม ตามลำดับ ชัยชนะติดต่อกันหลายครั้งของจักรพรรดินโปเลียนทำให้ฝ่ายสหพันธมิตรกำหนดแผนยุทธศาสตร์การรบใหม่ โดยจะไม่โจมตีกองทัพที่มีจักรพรรดินโปเลียนเป็นผู้บัญชาการโดยตรงแต่จะเน้นการโจมตีกองทัพอื่น ๆ มีการแบ่งกำลังเป็น ๓ กองทัพใหญ่ คือ กองทัพโบฮีเมีย (Bohemia) ประกอบด้วยทหารชาวออสเตรีย รัสเซีย และปรัสเซียรวม ๒๕๔,๐๐๐ นาย ภายใต้การนำของจอมพล คาร์ล ฟิลิปป์ เจ้าชายแห่งชวาร์เซนแบร์ก กองทัพชเลเซีย (Schlesia) ประกอบด้วยทหารปรัสเซียและรัสเซียรวม ๑๐๔,๐๐๐ นาย ภายใต้การนำของนายพลเกบฮาร์ดเลเบเรคท์ ฟอน บลือเชอร์ (Gebhard Leberecht von Blücher)* แม่ทัพชาวปรัสเซีย และกองทัพเหนือประกอบด้วยทหารปรัสเซีย รัสเซีย และสวีเดนรวม ๑๒๕,๐๐๐ นาย ภายใต้การนำของเจ้าชายชาลส์ จอห์น มกุฎราชกุมารแห่งสวีเดน (Charles John, Crown Prince of Sweden) [ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๑๘ เฉลิมพระนามพระเจ้าชาลส์ที่ ๑๔ จอห์น (Charles XIV John) แห่งราชอาณาจักรสวีเดนและนอร์เวย์]

 แผนยุทธศาสตร์นี้ทำให้ฝ่ายสหพันธมิตรได้รับชัยชนะติดต่อกันหลายครั้ง เริ่มที่การรบที่เมืองโกรสส์-เบเริน (Grossbeeren) ใกล้กรุงเบอร์ลิน (Berlin) เมืองหลวงของปรัสเซีย กองทัพเหนือสามารถตีทัพฝรั่งเศสภายใต้การบังคับบัญชาของชาร์ลอูดีโน (Charles Oudinot) แตกพ่ายเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๑๓ต่อมาเพียง ๓ วัน กองทัพชเลเซียได้รับชัยชนะในแคว้นชเลเซียริมฝั่งแม่น้ำคาชาวา (Kaczawa) แต่ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ฝรั่งเศสก็มีชัยชนะที่เมืองเดรสเดิน (Dresden) ในเวลาไล่เลี่ยกัน กองทัพโบฮีเมียได้รับชัยชนะที่เมืองคุล์ม (Kulm) ระหว่างวันที่ ๒๙–๓๐ สิงหาคม อีก ๑ สัปดาห์ต่อมา ในวันที่ ๖ กันยายนกองทัพเหนือสามารถเอาชนะจอมพล มีเชล เน (Michel Ney)* แม่ทัพคนสำคัญของจักรพรรดินโปเลียนซึ่งขณะนั้นกำลังเตรียมบุกกรุงเบอร์ลินได้ที่เมืองเดนเนอวิทซ์ (Dennewitz) ทางทิศใต้ของกรุงเบอร์ลินความปราชัยติดต่อกันหลายครั้งทำให้จักรพรรดินโปเลียนตัดสินพระทัยเคลื่อนกำลังมายังเมืองไลพ์ซิกเพื่อสกัดกั้นกองทัพสหพันธมิตรจากชเลเซียและโบฮีเมีย ในขณะเดียวกันชวาร์เซนแบร์กได้ส่งกองทหารม้าภายใต้บังคับบัญชาของลุดวิก อดอล์ฟ ปีเตอร์เจ้าชายวิทท์เกนชไตน์ (Ludwig Adolf Peter, Prince Wittgenstein) แม่ทัพรัสเซียมายังไลพ์ซิกเพื่อประเมินสถานการณ์ ทัพของวิทท์เกนชไตน์จึงปะทะกับกองทัพฝรั่งเศสภายใต้การนำของพระเจ้าโชอากีม นโปเลียน (Joachim Napoleon) แห่งราชอาณาจักรเนเปิลส์หรืออดีตจอมพล โชอากีม มูรา (Joachim Murat)* พระสวามีในเจ้าหญิงกาโรลีน โบนาปาร์ต (Caroline Bonaparte) เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ที่เมืองลีแบร์ท-วอล์ควิทซ์ (Liebertwolkwitz) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองไลพ์ซิก และได้รับชัยชนะ จักรพรรดินโปเลียนจึงทรงรีบยกทัพมาสมทบกับพระเจ้าโชอากีมในวันรุ่งขึ้นและกระจายกำลังของกองทัพฝรั่งเศสซึ่งในขณะนั้นมีราว ๒๐๐,๐๐๐ นาย โอบล้อมเมืองไลพ์ซิกทางทิศใต้ทิศเหนือและทิศตะวันตก ชวาร์เซนแบร์กจึงวางแผนโจมตีจากทุกด้านเพื่อบีบให้ฝรั่งเศสตกอยู่ในวงล้อมของฝ่ายสหพันธมิตร

 การโจมตีเริ่มขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ ๑๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๑๓ เมื่อกองทหารของฝ่ายสหพันธมิตรภายใต้บังคับบัญชาของนายพลฟรีดิช ไคลสท์ (Friedrich Kleist) แม่ทัพชาวปรัสเซียบุกเข้าโจมตีกองทหารของฝรั่งเศสภายใต้บังคับบัญชาของเจ้าชายโยเซฟโปเนียตอฟสกี (Jósef Poniatowski) แม่ทัพชาวโปลที่เมืองมาร์คเคลแบร์ก (Markkleeberg) ทางตะวันตกของเมืองไลพ์ซิก ในการรบที่ดุเดือดครั้งนี้แม้ฝ่ายสหพันธมิตรจะสูญเสียทหารไปเป็นจำนวนมาก แต่ก็เป็นฝ่ายมีชัยชนะ ฝ่ายสหพันธมิตรจึงเปิดการบุกพร้อมกันอีกหลายจุดในวันที่ ๑๖ ตุลาคม เช่น ที่เมืองวาเคา (Wachau) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองไลพ์ซิกที่จักรพรรดินโปเลียนเป็นผู้บัญชาการรบด้วยตนเองและมีชัยชนะ ที่เมืองลีแบร์ทวอล์ควิทซ์ซึ่งนายพลชาก แมกดอนัลด์ (Jacques MacDonald) ที่ปรึกษาทางด้านการทหารคนสำคัญของเจ้าชายเออแชน เดอ โบอาร์เน พยายามต้านและป้องกันไว้อย่างสุดความสามารถจนทัพสหพันธมิตรต้องล่าถอยกลับ ส่วนการรบที่เมืองวีเดอริทซช์ (Wiederitzsch) และเมืองเมิคแคร์นทางตอนเหนือของเมืองไลพ์ซิกและที่เมืองลินเดอเนา (Lindenau) ทางตะวันตก ทำให้ทั้ง ๒ ฝ่ายสูญเสียทหารเป็นจำนวนมาก การรบในวันแรกจึงสิ้นสุดลงโดยไม่มีฝ่ายใดรับชัยชนะ

 ในวันรุ่งขึ้น การรบดำเนินไปอย่างไม่ดุเดือดเท่าใดนักและเกิดขึ้นเฉพาะทางทิศเหนือ โดยทัพฝ่ายสหพันธมิตรนำโดยบลือเชอร์สามารถยึดเมืองออยทริทซช์ (Eutritzsch) และเมืองโกลิส (Gohlis) และสามารถรุกเข้าไปใกล้เมืองไลพ์ซิกสำเร็จ จากนั้นในช่วงบ่าย ฝ่ายสหพันธมิตรประชุมหารือกันที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อเซสเตอวิทซ์ (Sestewitz) ทางทิศใต้ของเมืองไลพ์ซิก และเห็นพ้องกันว่าจะบุกฝรั่งเศสในวันรุ่งขึ้น เนื่องจากจะมีกำลังทหารจากโบฮีเมียและจากสวีเดนมาสมทบเพิ่มอีกกว่า ๑๐๐,๐๐๐ นาย ส่วนฝรั่งเศส จักรพรรดินโปเลียนมีทหารมาเพิ่มอีกเพียง ๑๔,๐๐๐ นายเท่านั้น ซึ่งทำให้เสียเปรียบในการรบอย่างมาก เพราะอาจถูกฝ่ายสหพันธมิตรปิดล้อมได้หากถอนกำลังออกจากที่มั่นไม่ทัน จักรพรรดินโปเลียนทรงตระหนักในข้อเสียเปรียบนี้ดี ในเย็นวันนั้น พระองค์จึงทรงยื่นข้อเสนอกับฝ่ายสหพันธมิตรว่าจะถอนกำลังออกจากป้อมริมฝั่งแม่น้ำโอเดอร์ (Oder) และวิสตูลา (Vistula) หากฝ่ายสหพันธมิตรจะยอมให้ฝ่ายฝรั่งเศสถอนทหารจากที่มั่น และทรงคาดหวังว่าข้อเสนอนี้จะได้รับการตอบรับเนื่องจากจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ (Francis I) แห่งออสเตรีย พระสสุระ (พ่อตา) น่าจะให้การสนับสนุน

 อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสหพันธมิตรกลับปฏิเสธข้อเสนอของพระองค์และในเช้าของวันที่ ๑๘ ตุลาคม ได้เปิดการรุกครั้งใหญ่พร้อมกันทุกทิศทาง กองทัพฝรั่งเศสตกอยู่ในวงล้อมของฝ่ายสหพันธมิตรและต้องถอยร่นไปประชิดเมืองไลพ์ซิกมากขึ้น ถึงแม้ฝ่ายสหพันธมิตรจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ แต่การรบก็ดุเดือดและยาวนานทั้งฝ่ายสหพันธมิตรก็ไม่ได้รับชัยชนะเสมอไป เช่น ที่เมืองเลิสส์นิก (Lössnig) เมืองโดลิทซ์ (Dolitz) ทางทิศใต้ของเมืองไลพ์ซิก เมืองลินเดอเนาทางทิศตะวันตกรวมทั้งที่เมืองพรอบส์ไทดา (Probstheida) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่ตั้งทัพใหญ่ของฝรั่งเศสที่มีจักรพรรดินโปเลียนเป็นผู้บัญชาทัพ การรบที่หมู่บ้านนี้จึงเป็นการรบที่นองเลือดที่สุดของวันที่ ๓ ส่วนที่สหพันธมิตรมีชัยชนะ ได้แก่ การรบที่เมืองซุคเคิลเฮาเซิน (Zuckelhausen) เมืองโฮลซ์เฮาเซิน (Holzhausen) ทางทิศ


ยุทธการที่เมืองไลพ์ซิกตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองไลพ์ซิกและเมืองเพาน์สดอร์ฟ (Paunsdorf) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในการรบนี้มีทหารแซกโซนีราว ๔,๐๐๐ นาย เปลี่ยนข้างมาเข้าร่วมกับฝ่ายสหพันธมิตรด้วย แม้กองทัพฝรั่งเศสจะได้รับชัยชนะในบางจุด แต่ผลการรบโดยรวมในช่วงเย็นก็ทำให้กองทัพฝรั่งเศสต้องถอยร่นไปจนเกือบประชิดเมืองไลพ์ซิก แต่เนื่องจากฝ่ายสหพันธมิตรไม่สามารถยึดเมืองลินเดอเนาไว้ได้ ในคืนนั้นเอง กองทัพฝรั่งเศสจึงเริ่มถอนทัพออกทางช่องแคบที่ตัดผ่านเมืองลินเดอเนาซึ่งเป็นถนนที่แคบและมีเพียงสายเดียวการถอนทัพเป็นไปอย่างเชื่องช้าและติดขัดเพราะจักรพรรดินโปเลียนไม่ได้เตรียมการไว้สำหรับการถอนทัพ

 การถอนทัพที่ล่าช้าทำให้กองทัพสหพันธมิตรบุกเข้าโจมตีกองทัพฝรั่งเศสอีกครั้งทางทิศเหนือใต้และตะวันออกในวันที่ ๑๙ ตุลาคม และสามารถยึดสะพานและประตูแถบชานเมืองไลพ์ซิกได้อย่างง่ายดายทหารฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตหรือถูกจับเป็นเชลย นอกจากนั้นทหารฝรั่งเศสยศสิบโทนายหนึ่งซึ่งตกใจและคุมสติไม่ได้จึงระเบิดสะพานทิ้ง ทำให้ทหารฝรั่งเศสจำนวนมากติดกับเป็นเชลยและเสียชีวิตเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงโปเนียตอฟสกีแม่ทัพชาวโปลที่เสียชีวิตระหว่างกำลังข้ามแม่น้ำหลบหนีอย่างไรก็ตาม กองทัพใหญ่ของจักรพรรดินโปเลียนสามารถถอยหนีได้ทันเวลาและรีบมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกหลังฝรั่งเศสพ่ายแพ้ฝ่ายสหพันธมิตรได้ยกทัพเข้าเมืองไลพ์ซิกและพบว่าฝ่ายฝรั่งเศสได้ทิ้งทหารบาดเจ็บไว้ในเมืองถึง ๒๓,๐๐๐ นาย ทหารเหล่านี้รวมถึงทหารบาดเจ็บของฝ่ายสหพันธมิตรยังเสียชีวิตลงในวันต่อ ๆ มามากขึ้น เนื่องจากเกิดโรคไข้รากสาดใหญ่ระบาดในเมืองครั้งใหญ่และขาดแพทย์ดูแลรักษา

 ในสงครามปลดปล่อยครั้งนี้หรือที่บางครั้งเรียกว่า ยุทธการแห่งประชาชาติ (Battle of Nations) เป็นยุทธการที่ยิ่งใหญ่ของกองทัพสหพันธมิตรและฝรั่งเศสที่มีทหารรวมกันถึง ๖๐๐,๐๐๐ นาย ฝรั่งเศสเสียทหารรวม ๕๓,๐๐๐ นาย ฝ่ายสหพันธมิตรรวม ๕๒,๘๐๐ นาย นับเป็นการรบที่นองเลือดที่สุดในช่วงสงครามนโปเลียนและยังทำลายชื่อเสียงของพระองค์ในด้านการเป็นอัจฉริยะทางสงครามเนื่องจากพระองค์ไม่เคยพ่ายแพ้อย่างย่อยยับมาก่อน ชัยชนะของฝ่ายสหพันธมิตรทำให้อำนาจของฝรั่งเศสทางตะวันออกของแม่น้ำไรน์สิ้นสุดลง เพราะสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ (Confederation of the Rhine)* ที่จักรพรรดินโปเลียนก่อตั้งขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๖สลายตัวลงในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๑๓.



คำตั้ง
War of Liberation; Battle of Leipzig
คำเทียบ
สงครามปลดปล่อย; ยุทธการที่เมืองไลพ์ซิก
คำสำคัญ
- นโปเลียนที่ ๑
- เน, จอมพล มีเชล
- เน, มีเชล
- มูรา, จอมพล โชอากีม
- ยุทธการที่เมืองไลพ์ซิก
- ยุทธการแห่งประชาชาติ
- สงครามนโปเลียน
- สงครามปลดปล่อย
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๖
- สมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์
- สัญญาสงบศึก
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1813
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๕๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
คัททิยากร ศศิธรามาศ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-